post-thumbnail

วิทยาศาสตร์วันละตอน… สบู่แท้ VS สบู่เทียม

หลังจากนำสินค้าออกมานำเสนอได้ซักพัก คำถามยอดฮิตเลยที่ได้รับคือ.. สบู่ก้อนกับสบู่เหลว ต่างกันยังไง?
เราชอบมากที่ถูกถาม ชุดคำถามกระตุ้นให้เราค้นพบว่าถ้าเราทำเป็นชุดความรู้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้
เราเลยจะทำคอนเทนท์แบบต่อเนื่อง ในหัวข้อ “เปิดโลกของใช้แบบจริงจัง” โดยจะมีคุณอ้อย มาให้ข้อมูลให้เราอ่านไปด้วยกันนะคะ

โดยโพสต์แรกนี้ มารู้จักคำว่าสบู่ สบู่แท้ สบู่เทียมกันค่ะ

สบู่แท้ ในคำไทยมีเฉพาะคำว่าสบู่ เราเลยไม่รู้ความแตกต่างที่มันอยู่ข้างในก้อน ที่มา วัตถุดิบ กระบวนการทำซึ่งไม่แปลกเลย มันเป็นจักรวาลของนักทำสบู่ คำว่าสบู่แท้ถูกนิยามไว้ว่าต้องประกอบด้วย 3 ลักษณะนี้

  • ทำจากอะไร: สบู่แท้ต้องเป็นของที่เกิดจากการเอาน้ำมันต่าง ๆ มาเจอกับน้ำด่าง น้ำมันจะมีแหล่งที่มาอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะจากสัตว์ จากพืช สมัยก่อนสบู่แท้ที่ผู้คนทำกัน ใช้น้ำมันสัตว์และน้ำด่างที่เกิดจากขี้เถ้าของการเผาไม้ สมัยนี้ปรับมาเป็นน้ำด่างจากโซดาไฟเกรดเครื่องสำอางแทน พอบอกว่าโซดาไฟจะฟังดูน่ากลัว แต่พอน้ำมันและน้ำด่างทำปฏิกิริยาจนสมบูรณ์ คำว่าโซดาไฟจะหมดไป เกิดเป็นสบู่น้ำมันธรรมชาติที่ให้คุณสมบัติให้การทำความสะอาดแทน
  • คุณสมบัติในการทำความสะอาดต้องมาจากเกลือจากไขมันที่เป็นด่างเท่านั้น สบู่ธรรมชาติจึงมีความเป็นด่างเสมอ โดยมี pH อยู่ระหว่าง 8-11 สบู่น้ำมันธรรมชาติแบบเย็นที่ทำมาอย่างดี pH จะอยู่ระหว่าง 8-10 ถ้าเติม สารชะล้าง (surfactant) ผงซักฟอก (detergent) ปรับ pH จะกลายเป็นสบู่เทียม อีกนัยนึงคือ มีการใช้สารสัง เคราะห์ แบบนี้เรียกได้ว่าเป็นเครื่องสำอาง
  • สบู่แท้ มีวัตถุประสงค์ในการใช้หนึ่งเดียวคือ เพื่อทำความสะอาด ถ้าระบุวัตถุประสงค์อื่นไว้ด้วย อย่างเพิ่มความชุ่มชื้น ให้กลิ่นหอม (ส่วนใหญ่จากน้ำหอมสังเคราะห์) จะกลายเป็นเครื่องสำอาง เมื่อไหร่บอกว่า รักษาสิว รักษาฝ้า จะกลายเป็นยา ในเครื่องสำอางและยามีสารสังเคราะห์เสมอ ทั้งมาจากธรรมชาติหรือเคมีสังเคราะห์

ในจักรวาลของสบู่ จะมีคำเรียกสบู่เทียม คือ syndet มาจากการผสมคำว่า synthetic และ detergent หรือวัตถุทำความสะอาดจากสารสังเคราะห์ สบู่เทียมแบบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 1955 จากแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่ง syndet ถูกคิดขึ้นมาเพื่อกลบแก้ปัญหาหลายประการของสบู่แท้ เช่น ต้นทุนการผลิต เรื่องของความรู้สึกบนตัว การควบคุม pH ในสบู่ หรือเพื่อให้ผลลัพธ์บางอย่างแบบเครื่องสำอาง แม้จะแก้ปัญหาบางอย่างได้ สบู่เทียม (ทั้งก้อนและเหลว) ก็ให้ปัญหาอย่างอื่น ที่ตามมาจากสารสังเคราะห์ที่ใส่ สองสารสังเคราะห์ที่อยากชวนให้ท่องไว้แล้วหนีให้ห่าง คือ benzyl benzoate and benzyl cinnamate (พบได้บ่อยในกลุ่มของใช้และเครื่องสำอางทั่วไป) farnesol (สารชนิดหนึ่งในน้ำหอมสังเคราะห์) เพราะมีงานวิจัยล่าสุดจากเกาะอังกฤษ พบว่าสารสองกลุ่มนี้ไปกระตุ้นกระบวนอักเสบของผิวได้
สบู่ก้อนแข็ง ๆ หอม ๆ บนชั้นวางของในร้านสะดวก รวมทั้งสบู่เหลวทั่วไป จัดอยู่ในกลุ่มสบู่เทียม

แม้จะตั้งใจเลือกมาอย่างดีแล้วว่านี่แหละสบู่แท้ สบู่แท้เองยังมีแบ่งเกรดตามคุณสมบัติและคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมาย เหมือนกระเป๋าถือ แม้จะเป็น Berkins แล้วก็ตาม ก็ยังแบ่งตามหนังที่ใช้ สีของหนัง ถ้าเปรียบกลับมาเป็นสบู่จะคือ การเกิดฟอง การให้ความละมุนนุ่มลื่น ความล้างออกง่าย คุณสมบัติบำรุง โดยสิ่งเหล่านี้ มาจากรสมือและหัวใจของนักทำสบู่ เป็นสูตรเฉพาะประจำบ้าน โดยคุณภาพของสบู่ขึ้นอยู่กับ

  • เทคนิคและกระบวนการ อย่างเจ๊ไฝที่ทำไข่เขียวปูได้จนคนทั่วโลกยกนิ้วให้ ต้องผ่านการเรียนรู้มาเยอะมาก จะใช้ไข่กี่ฟอง ไข่แบบไหนฟองใหญ่หรือเล็ก ความร้อนน้ำมันเท่าไหร่ ปูกี่กรัม ถ้าเป็นโลกของนักทำสบู่ เขาจะดูระยะเวลาผสม ลำดับขั้นตอนการใส่ส่วนผสม พวกนี้ส่งผลต่อคุณภาพทั้งหมด
  • วัตถุดิบ วัตถุดิบดีอาหารยิ่งอร่อย ส่วนของสบู่ขึ้นกับน้ำมันและสัดส่วนของน้ำมันที่เลือกใช้
  • ส่วนผสมอื่น เช่น ใส่รังไหม ใส่ถ่านเผา (Charcoal) ยิ่งสด ยิ่งใหม่ ยิ่งมีสารออกฤทธิ์มาก
  • ปริมาณของไขมันคงเหลือ (Super fatting) สบู่ที่มีไขมันคงเหลือมาก จะยิ่งให้ผลลัพธ์ที่อ่อนโยนและบำรุงผิว (conditioning) สบู่ก้อนน้ำมันธรรมชาติกรรมวิธีเย็นที่มีไขมันคงเหลือสูง ๆ ก็หรูหราและราคาสูงเหมือนกระเป๋า Berkins หนังจระเข้สีหิมาลายัน เพราะใช้น้ำมันปริมาณเยอะกว่าการทำสบู่น้ำมันทั่วไป ทำยาก ถ้าทำไม่ดีจะเกิดฟองน้อย ทิ้งคราบมันบนตัว รวมทั้งต้นทุนเวลาในการตากสบู่ทิ้งไว้ยาวนานแบบทุเรียนหมดฤดูแล้ว ยังไม่ได้สบู่มาใช้

ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังเรื่องของ pH ของใช้กับความฉลาด(ขายของ) ของนักการตลาดค่ะ
หมายเหตุ : บทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ ทีมงาน Ali ได้รวบรวมความรู้ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
กรณีที่ต้องการคำแนะนำในการเปลี่ยนของใช้ เพื่อหวังผลในการรักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ