post-thumbnail

เลือกของใช้แบบ pH balanced แล้ว ยังไม่หายซะที

หนึ่งในคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์กลุ่มสบู่ที่เราอยากรู้ คือ pH
ความคำว่า pH คืออะไร pH มีสำคัญและเชื่อมโยงกับคำว่า “อ่อนโยน” อย่างไร? แล้วเชื่อมโยงสู่การใช้คำว่า pH balanced (pH 5.5) ในของใช้ จนกลายเป็นคำที่นักการตลาดนำมาเป็นจุดขายของ แต่ไม่เคยทำให้ปัญหาผิวเราหายไป
เรามาอ่านหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ

pH ของผิว

pH หรือ สภาพความเป็นกรด หรือ ด่าง 1 หมายถึงกรดจัด ( 2-3 คือ กรดในกระเพาะอาหารและน้ำมะนาว) 14 หมายถึง ด่างจัด (โซดาไฟ = 13-14) ตอนนี้ทุกการศึกษา เห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่า ผิวปกติของมนุษย์แบบเราทุกคน pH จะมีค่าเป็นกรดอ่อนราว 4.2 ถึง 5.9 ตรงนี้คือผิวชั้นบนสุด ส่วนที่สัมผัสกับโลกภายนอก ถ้าลงลึกไปกว่าผิวส่วนนอก พบว่า pH จะอยู่ในสภาวะเป็นกลาง

pH สำคัญยังไง

สภาพความเป็นกรดด่าง เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อความแข็งแรงบนผิวชั้นนอก โดยเฉพาะในส่วนของ acid mantle นิยามภาษาไทยว่า เกราะกรดของผิว (acid mantle) สภาวะความเป็นกรด-ด่างที่ “ไม่สมดุล” เอื้อให้เกิดการศูนย์เสียน้ำจากชั้นผิวมากกว่า เสียความยืดหยุ่นของชั้นผิวหนัง รวมถึงการเติบโตอย่างผิดปกติของเชื้อจุลินทรีย์บนผิว ซึ่งไม่ใช่ว่าโดนบางอย่างแล้วไม่สมดุลเลย ร่างกายมนุษย์ปรับตัวเก่งมาก บนผิวหนังปกติ เมื่อมีอะไรมากระทบความเป็นกรดด่างให้เปลี่ยนไป ผิวจะสามารถปรับกลับมาจุดสมดุลคือ pH ค่อนไปทางกรด ได้ภายใน 30-45 นาทีเท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ความเสื่อมเป็นเรื่องธรรมดาของโลกนะคะ ยิ่งเราแก่ตัวหรือเป็นโรคผิวหนัง ร่างกายเราจะสูญเสียความสามารถนี้ไปเรื่อยๆ

แล้วเรามีทางเลือกอะไรที่เป็นกรดอ่อนมาทดแทนสบู่แท้ที่เป็นด่าง?

สิ่งที่เป็นข้อกังวลในคุณลักษณะของสบู่แท้ คือ ความเป็นด่างของสบู่แท้ ด้วยวิธีของการทำสบู่แท้ไม่ว่าจะกรรมวิธีเย็นหรือร้อน ทำยังไง pH ก็ลงต่ำกว่า 8 หรือสุด ๆ คือ 7.5 ไม่ได้ เพราะในค่าความเป็นด่างอ่อนแบบนั้น จะไม่เกิดปฏิกิริยาสบู่ (saponification) นี่เลยเป็นที่มาของการเริ่มนำสารสังเคราะห์มาใช้ ปฏิวัติเรื่องของใช้ทำความสะอาดบ้านยกใหญ่ จากการใช้กระบวนการและวัตถุดิบธรรมชาติ เป็นสารสังเคราะห์ที่ดาษดื่น จำนวนมากและราคาถูก สบู่แท้เดิมจึงตกยุค ถูกแทนที่ด้วยวัตถุทำความสะอาดจากสังเคราะห์ คือ สบู่เทียม (syndet)

ทีนี้พอเริ่มมีการผลิตสินค้าออกมา นักการตลาดต้องมาคิดว่า ทำยังไงให้สินค้ามีจุดเด่น จุดแตกต่างออกมาขาย
ค้นไปค้นมาเจอว่า นี่ไง! นักเคมีและแพทย์ตั้งคำถามเรื่อง pH ของใช้ที่ใกล้ผิวน่าจะอ่อนโยนกับ acid mantle มากกว่าสบู่แท้นะ pH balanced เลยเริ่มเข้ามามีบทบาท ในการใช้เป็นคำทางการตลาดด้วยทักษะการทำการตลาดที่ยอดเยี่ยม
พร้อมงานวิจัยจำนวนมากที่รองรับชุดความคิดนี้ (ที่บางส่วนสนับสนุนโดยบริษัทสบู่ 🙄) ทฤษฎีนี้ จึงถูกยอมรับในทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสของ pH balanced แตกต่อยอดไปเป็นคำว่า soap-free ล่ามตั้งแต่สบู่เทียม ไปถึงเครื่องสำอาง จนถึงยา

ทำไมเลือกสบู่เทียมแบบ pH สมดุลมาใช้แล้วปัญหาไม่หายไปซะที อ่อนโยนจริงหรือ?

เราตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเพราะเราเคยเชื่อคำทางการตลาดที่ได้ยินได้ฟังจนชินหู ว่าของใช้ pH balanced pH 5.5 คือ อ่อนโยนต่อผิว แต่เอ๊ะ ทำไมยังมีผู้คนจำนวนมากที่ใช้แล้ว อาการคัน แห้ง ผิวอักเสบไม่หายซะที

ทีมเหล่านักทำสบู่ธรรมชาติเลยบอก นี่ๆ ที่ว่าสบู่เทียมน่ะอ่อนโยนกับผิวมากกว่า โดยเฉพาะในมุมค่า pH ขี้ตู่รึป่าวจ๊ะ
ในเมื่อน้ำประปาที่ใช้ ยังเปลี่ยนแปลง pH เลย! (ส่งหมัดตรงเข้าใต้คางทีมสบู่เทียม) แล้วดูนี่นะ งานวิจัยหนึ่งบอกว่า ไม่ว่าแท้ เทียม pH ต่ำหรือสูง ทั้งหมดทำให้ผิวแห้งได้ ยกเว้นสบู่เทียมกรรมวิธีเย็นแบบมีไขมันส่วนเกิน (ทีมสบู่เทียมโดนไปอีกหนึ่งดอก) ยังมีการศึกษาทางบนร่างกายมนุษย์จริงบางฉบับ ทดสอบการใช้สบู่แท้ pH 10 กับสบู่เทียมที่เป็นกรดอ่อนอย่างต่อเนื่องนานกว่า 5 ปีแบบหมัดต่อหมัด ทีเด็ดที่สวนทางกับความเชื่อเดิมคือ การใช้สบู่แท้ไม่มีผลกระทบกับความสามารถในการปรับ pH ของเกราะกรดของผิว สุดท้ายนักทำสบู่ธรรมชาติยังส่งหมัดอัปเปอร์คัตเข้าใต้คาง เธอๆ ดูรึยังจ๊ะ มีงานวิจัยเยอะเลยนะทั้งทางห้องแลปและทางคลินิก บอกว่าสารสังเคราะห์ที่ถูกเลือกนำมาใช้นี่แหละ ตัวก่อการแพ้บนผิวอย่างกว้างขวาง เช่น สารประกอบกลุ่มซัลเฟต SLS Sodium Laureth (Lauryl) Sulfate (ชื่อเดียวกับ Ammonium Laureth Sulfate) Methylisothiazolinone สารกันเสียสังเคราะห์ และอื่นๆอีกมากมาย

มาเลือกสบู่ที่เหมาะสมกับผิวเรากันเถอะ

แม้เราทำสบู่ขาย เราอยากยืนยันว่า ไม่มีสินค้าใดในโลกนี้ ดีและเหมาะสมกับทุกคนนะคะ แท้ไม่ไช่ดีประเสริฐ เทียมหมายถึงไม่ดี ทุกอย่างมีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป แท้ในที่นี้หมายถึง “สบู่” เทียมหมายถึงไม่ใช่สบู่ แต่เป็น “สารชะล้าง”ที่ใช้ทำความสะอาดได้แบบสบู่

pH 5.5 ไม่สำคัญเท่าการรู้จักผิวตัวเอง

สำหรับตอนนี้ pH คือหนึ่งในข้อคำนึงของ “แพทย์” ในการแนะนำของใช้ให้เหมาะสมโรคและสภาพผิว โดยยังไม่มีข้อยุติ ในการถกเถียงกันเรื่องนี้ ถ้าดูแนวโน้มการศึกษาตั้งแต่ยุค 80 ถึง ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ความถี่ในการอาบน้ำ ความถี่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มีผลกับเกราะกรดของผิวมากกว่าของใช้ ไม่ว่าจะสบู่แท้หรือเทียม! รวมทั้งค้นพบว่า pH ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ใช้ระบุความอ่อนโยนหรือมีประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ยังมีอีกหลายปัจจัยอย่าง ปริมาณของไขมันธรรมชาติบนผิวหนัง ปริมาณน้ำมันในของใช้ ฯลฯ

ดังนั้น ตอนที่เราเลือกของใช้ทุกครั้ง สำคัญคือ การดูส่วนผสมบนฉลาก ว่ามีสารเคมีสังเคราะห์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการแพ้หรือทำให้ผิวแห้งรึป่าว ในส่วนผสมมีน้ำมันธรรมชาติหรือสารสกัดใดที่มีคุณค่าบำรุงกับผิว และเวลาสัมผัสของใช้ต่าง ๆ ผิวเรานี้แหละจะบอกเราอย่างแจ่มชัดที่สุด ของใช้ชิ้นนี้ใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา

“นักการตลาดไม่รู้จักผิวเรา หมอไม่รู้ทุกรายละเอียด ไม่มีใครรู้จักผิวเราเท่าตัวเราเองนะคะ”

บทความนี้ให้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่ทีมงาน Ali ได้รวบรวมความรู้ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ กรณีที่ต้องการคำแนะนำในการเปลี่ยนของใช้ เพื่อหวังผลในการรักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

#purestforourpreciousone #ali #toxinfreelifestyle

แหล่งอ้างอิง:

  • chagrinvalleysoapandsalve.com
  • www.researchgate.net
  • core.ac.uk
  • Gfatter, R & Hackl, Peter & Braun, F. (1997). Effects of Soap and Detergents on Skin Surface pH, Stratum corneum Hydration and Fat Content in Infants. Dermatology (Basel, Switzerland). 195. 258-62. 10.1159/000245955.
  • Schmid-Wendtner, Monika & Korting, H.C.. (2006). The pH of the Skin Surface and Its Impact on the Barrier Function. Skin pharmacology and physiology. 19. 296-302. 10.1159/000094670.